วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความหมาย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง การแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามเขตพรมแดนของรัฐ ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยรัฐหรือตัวแสดงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งส่งผลถึงความร่วมมือหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสังคม ซึ่งเกิดขึ้นข้ามขอบเขตของกลุ่มสังคมการเมืองหนึ่ง ๆ ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยด้วยกัน หรือกลุ่มคนไทยด้วยกันในประเทศไทย ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนลาวถือว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคมโลก

ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามเขตพรมแดนของรัฐดังที่กล่าวข้างต้นนั้น อาจมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
1. ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจกระทำอย่างเป็นทางการโดยรัฐ หรือโดยตัวแทนที่ชอบธรรมของรัฐ เช่นการประชุมสุดยอด การดำเนินการทางการฑูต การแถลงการณ์ประท้วง การยื่นประท้วงต่อองค์การสหประชาชาติ หรืออาจเป็นการกระทำไม่เป็นทางการ เช่น การก่อการร้าย การกระทำจารกรรม การโจมตีประเทศหนึ่งโดยสื่อมวลชนของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กระทำการในนามของรัฐ เป็นต้น
2. ความสัมพันธ์ในลักษณะร่วมมือหรือขัดแย้ง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น หากไม่ร่วมมือก็ขัดแย้ง ความสัมพันธ์ในลักษณะขัดแย้ง เช่น สงคราม การแทรกแซงบ่อนทำลาย การขยายจักรวรรดินิยม การผนวกดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง ส่วนความร่วมมือ ได้แก่ การกระชับความสัมพันธ์ทางการฑูต การร่วมเป็นพันธมิตร การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและวัฒนธรรมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ต่าง ๆ นี้อาจมีลักษณะผสมผสานกันได้ เช่น บางครั้งรุนแรง บางครั้งนุ่มนวล บางครั้งเป็นทางการ บางครั้งกึ่งทางการ หรือบางครั้งร่วมมือในเรื่องหนึ่งแต่ขัดแย้งในอีกเรื่องหนึ่ง เป็นต้น

ขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีขอบเขตที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมข้ามพรมแดนเพื่อมีอิทธิพลหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตลอดจนการตัดสินใจขององค์การหรือรัฐบางต่างประเทศ เช่น การดำเนินการทางการฑูต การทหาร การแสวงหาพันธมิตร การแทรกแซงบ่อนทำลายประเทศอื่น การใช้กำลังบีบบังคับ การกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศ เป็นต้น กิจกรรมบางเรื่องอาจไม่เป็นกิจกรรมการเมืองโดยตรง แต่หากมีวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ก็ถือเป็นกิจกรรมการเมืองเช่นกัน เช่น การแลกเปลี่ยนทีมนักปิงปองระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2514 มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเนื่องจากประเทศทั้งสองต้องการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความตึงเครียด และรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ หลังจากเป็นศัตรูกันมาตลอด กิจกรรมเช่นนี้เรียกว่า การเมืองระหว่างประเทศ
2. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หมายถึง กิจกรรมการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านบริการหรือวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการในการอุปโภคของผู้แลกเปลี่ยน เช่น การซื้อขายสินค้า การให้ทุนกู้ยืม การธนาคาร เป็นต้น เนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรแตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน และยังต้องการทรัพยากรของประเทศอื่นหรือบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีทรัพยากรน้ำมัน แต่ยังต้องการรักษาน้ำมันสำรองในปัจจุบันจึงซื้อน้ำมันจากประเทศเม็กซิโก และประเทศอาหรับ ความต้องการทรัพยากรซึ่งกันและกันเช่นนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร (วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เทคโนโลยี บริการ ฯลฯ) โดยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าโดยการซื้อขาย ให้ แลกเปลี่ยน ยืม ก็ตาม โดยมีกฎเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติบางประการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ การตั้งกำแพงภาษี การกำหนดอัตราหุ้นและดอกเบี้ย เป็นต้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เรียกว่า เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
3. ความสัมพันธ์ทางสังคม หมายถึง กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การศาสนา วัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามขอบเขตพรมแดนของรัฐ เช่น การส่งฑูตวัฒนธรรมหรือคณะนาฎศิลป์ไปแสดงในประเทศต่าง ๆ การเผยแพร่ศาสนาโดยตัวแทนทางศาสนาของประเทศอื่น การเผยแพร่ศิลปะของประเทศหนึ่งในประเทศอื่น เป็นต้น
4. ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย เมื่อมีการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ข้ามเขตพรมแดนของรัฐมากขึ้น เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปโดยเรียบร้อยและมีระเบียบแบบแผน ประเทศต่าง ๆ จึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติที่แต่ละประเทศพึงยึดถือปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ขึ้น กฎเกณฑ์หรือระเบียบนี้อาจปรากฏในรูปข้อตกลงลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า สนธิสัญญา อนุสัญญา กติกาสัญญา กฎบัตร ความตกลง ฯลฯ หรืออาจเป็นความเข้าใจกันซึ่งแต่ละฝ่ายยึดถือปฏิบัติโดยไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ซึ่งเรียกว่า กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีต่างเรียกว่า กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้รัฐ หรือตัวแสดงอื่น ๆ ระหว่างประเทศได้ประพฤติปฏิบัติตนตามกติกาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมโลก ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการเมือง เช่น สนธิสัญญาทางพันธมิตร สนธิสัญญาทางไมตรี กฎบัตร สหประชาชาติ ด้านเศรษฐกิจ เช่น สนธิสัญญาจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศ ข้อตกลงเรื่องการค้าและพิกัดภาษี ด้านสังคม เช่น สิทธิมนุษยชน การแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรม ด้านเทคโนโลยี เช่น ความตกลงเรื่องการค้นคว้าในอวกาศ เป็นต้น
5. ความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ประเภทนี้มุ่งให้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้และความช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มีการร่วมมือกันค้นคว้าทดลองและวิจัยในบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา การร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศ เพื่อกำจัดโรคภัยไข้เจ็บสำคัญ เช่น โรคมะเร็ง การร่วมมือกันส่งเสริมพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การให้รางวัลระหว่างประเทศ จัดการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ เป็นต้น

ผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชาติต่าง ๆ มากกว่าที่เคยเป็นในอดีต เนื่องจากจำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ต้องพึ่งพากันมากขึ้นในด้านต่าง ๆ และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลให้โลกดูจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีต่อด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อสังคมโลก รัฐ ประชาชนและผู้นำของประเทศความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น อาจพิจารณาได้ว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดในโลก ในเรื่องนี้คำตอบที่ได้รับค่อนข้างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคนบนผืนโลกดังกล่าวต่อไปนี้
1) ด้านสังคมโลก ปัจจุบันโลก สังคมโลกเป็นที่รวมของกลุ่มสังคมที่เรียกว่า รัฐ มีระบบและกระบวนการดำเนินความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น ระบบการเมืองระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจมีผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ทางการเมืองของมหาอำนาจอื่น และกลุ่มประเทศอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น การที่จีนแยกตัวจากสหภาพโซเวียตและเนินนโยบายทางการเมืองที่เป็นอิสระ และต่อมาได้คบค้าทำไมตรีกับสหรัฐอเมริกาย่อมมีผลทำให้โลกซึ่งเคยถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม มีสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำได้เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจก็เช่นกัน เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำขึ้น โดยเริ่มต้นจากกลุ่มประเทศยุโรป ก็มีผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือเมื่อค่าของเงินสกุลใหญ่ ๆ เช่น เงินดอลลาร์ตก ก็มีผลกระทบกระเทือนเศรษฐกิจของโลกตามไปด้วย
2) ด้านรัฐ นอกเหนือจากผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อสังคมโลกและสะท้อนถึงรัฐแต่ละรัฐแล้ว รัฐยังเป็นผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสัมพันธ์กับตนโดยตรงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศของอภิมหาอำนาจย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐที่สังกัดกลุ่มของอภิมหาอำนาจนั้น ดังกรณีที่ประเทศพันธมิตรของสหภาพโซเวียตหลายประเทศตัดสินใจไม่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1984 หลังจากที่สหภาพโซเวียตประกาศไม่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาดังกล่าว ผลต่อรัฐนี้ โดยทั่วไปจะเกิดมากในสถานการณ์ซึ่งรัฐอยู่ร่วมในสมาคม กลุ่มโอลิมปิก หรือในสถานการณ์ซึ่งรัฐอยู่ใกล้เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอาณาบริเวณใกล้เคียง ดังกรณีที่ประเทศไทยได้รับผลจากการสู้รบในกัมพูชา จนต้องแบกภาระผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนจำนวนมาก และได้รับภัยจากการรุกล้ำดินแดนของฝ่ายเวียดนาม เป็นต้น ผลที่เกิดต่อรัฐอาจเป็นได้ทั้งในแง่ความมั่นคง ระบบโครงสร้างและกระบวนการทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในรัฐ ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป
3) ด้านประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งกระทบกระเทือนรัฐย่อมมีผลต่อประชาชนด้วย ผลดังกล่าวนี้ย่อมมีแตกต่างกันไป คือ อาจกระทบคนบางกลุ่มบางเหล่า หรือกระทบประชาชนโดยส่วนรวมทั้งโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมก็ได้ ตัวอย่างกรณีสงครามในกัมพูชานั้น ประชาชนไทยที่ได้รับความกระทบกระเทือนก็คือ พวกที่อยู่ตามบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา เช่น ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ส่วนประชาชนที่อยู่ห่างไกลออกไปได้รับผลน้อยลง
4) ด้านผู้นำของประเทศ การเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ หรือเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลต่อภาวะผู้นำภายในประเทศด้วย และอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่ปกครองประเทศก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ ดังตัวอย่างกรณีที่นาย โงดินห์ เดียม ต้องถูกโค่นล้มอำนาจและถูกสังหาร เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเลิกให้ความสนับสนุน หรือกรณีที่มีการตั้งรัฐบาลหุ่นและผู้นำหุ่นโดยประเทศผู้รุกราน (เช่น รัฐบาลหุ่นในแมนจูเรียสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือรัฐบาลกัมพูชาของนายเฮง สัมริน เป็นต้น)
ผลที่เกิดต่อสังคมโลก ต่อรัฐ ต่อประชาชน และต่อผู้นำของประเทศเช่นนี้ อาจเป็นได้ทั้งในทางดีหรือทางร้ายดังจะกล่าวต่อไป
2. ลักษณะของผลที่เกิดขึ้นต่อบุคคลและกลุ่มสังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์หลักของการที่มนุษย์เข้ามารวมกลุ่มเป็นสังคมภายในรัฐ หรือสังคมระหว่างประเทศก็ตาม คือ การแสวงหาความมั่นคงในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและสังคม วัตถุประสงค์ดังกล่าวจะบรรลุตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการทั้งองค์ประกอบส่วนบุคคลและองค์ประกอบจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ องค์ประกอบสภาพแวดล้อมอาจเป็นเรื่องภายในกลุ่ม ภายในรัฐ หรือเป็นสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงนับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสังคมมนุษย์ ดังปรากฏในหลายลักษณะ ดังนี้
1) ด้านความมั่นคงของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะทางด้านการเมืองและการทหาร ส่งผลถึงความมั่นคงปลอดภัย เอกราชและอำนาจอธิปไตยของชาติตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละชาติ ดังจะเห็นได้ว่าสงครามระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของความสัมพันธ์ที่เกิดข้ามเขตพรมแดนของรัฐ การแทรกแซงบ่อนทำลายโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ตลอดจนการใช้หรือการข่มขู่คุกคามว่าจะใช้กำลังโดยยังไม่ถึงขั้นสงคราม ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น การผนวกดินแดน แลตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโธเนีย โดยสหภาพโซเวียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการที่รัฐซิมบับเว ถูกแทรกแซงโดยประเทศแอฟริกาใต้ เป็นต้น
ความมั่นคงของชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน และการธำรงไว้ซึ่งสิทธิแห่งรัฐอธิปไตยเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศจัดเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของนโยบายต่างประเทศ ถึงแม้ความมั่นคงของชาตินี้จะได้รับการประกันได้บางส่วนโดยการพัฒนากำลังความสามารถและฐานอำนาจภายในประเทศก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้วความมั่นคงของชาติได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างมากจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อประกันความมั่นคงของชาติ เช่นโดยใช้วิธีการทางการฑูต การทหาร ดังกรณีการทำสัญญาป้องกันร่วมกันทั้งสองฝ่าย การรวมกลุ่มพันธมิตรทางทหาร การดำเนินการทหาร เป็นต้น
2) ด้านความปลอดภัยและการกินดีอยู่ดีของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมต่อความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละประเทศ กล่าวคือ นอกเหนือจากผลต่อความมั่นคงของประเทศซึ่งย่อมกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังอาจกระทบต่อความปลอดภัย และการกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยยังไม่กระทบความมั่นคงของประเทศโดยตรงก็ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่สายการบินเกาหลีใต้ถูกเครื่องบินสหภาพโซเวียตยิงตก หรือกรณีที่ผู้ก่อการร้ายกระทำการรุนแรงในประเทศอื่น จนมีผลให้ประชาชนได้รับอันตราย เป็นต้น
3) ด้านการพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลต่อความพยายามของรัฐและประชาชนในการเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคนิควิทยาการของตนด้วย การเปลี่ยนแปลงฐานะดังกล่าวนี้ คือ การพัฒนานั่นเอง การพัฒนาการเมืองมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองไปสู่ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนไปโดยสันติ และรองรับการกระทบกระเทือนจากภายนอกได้ด้วยดี การพัฒนาทางเศรษฐกิจมุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้นและบริการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลประโยชน์ตอบแทนต่อประชาชนและรัฐได้ดีขึ้น การพัฒนาทางสังคมมุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมในประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการขัดแย้งรุนแรง และการพัฒนาทางเทคนิควิทยาการมุ่งให้มีการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ความพยายามให้เกิดการพัฒนานี้ส่วนหนึ่งได้รับผลจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
จะเห็นได้ว่า การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ล้วนได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจภายนอกประเทศ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศของประเทศที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจและการทหาร ตัวอย่างเช่น หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและประเทศที่มีฐานะดีมีส่วนในการช่วยเหลือบูรณะพัฒนาประเทศที่ยากจนและกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่นโดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การลงทุน การให้คำปรึกษาหารือทางวิชาการหรือการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรสำคัญในประเทศเหล่านี้
โดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลต่อความสงบเรียบร้อย การกินดีอยู่ดีและการพัฒนาของประชาชน รัฐ และสังคมโลกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จึงนับว่ามีความสำคัญ
มีคุณค่าควรแก่การสนใจติดตามทำความเข้าใจทั้งโดยนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายและประชาชนโดยทั่วไป

4 ความคิดเห็น:

ร่วมกันแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ