วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

นโยบายต่างประเทศ

นโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความหมาย

สำหรับนโยบายต่างประเทศ ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายความหมาย เช่น เจ. ดี. บี. มิลเลอร์ (J. D. B. Miller) ให้คำจำกัดความของคำว่า นโยบายต่างประเทศว่าหมายถึงพฤติกรรม (ของรัฐ) ที่เป็นทางการต่อกิจการภายนอกรัฐ
เค. เจ. โฮลสติ (K. J. Holsti) ได้ให้ความหมายของนโยบายต่างประเทศว่า หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะนโยบาย หมายถึง การตัดสินใจต่าง ๆ ที่มีเป้าหมาย เพื่อการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ดังนั้น นโยบายต่างประเทศจึงเป็นการกระทำต่าง ๆ ของรัฐภายใต้การตัดสินใจและนโยบายเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยกัน
เคลาส์ คนอร์ (Klaus Knorn) อธิบายว่า นโยบายต่างประเทศ หมายถึง การที่รัฐใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของตนในการสัมพันธ์กับรัฐอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ
ที. บี. มิลลาร์ (T. B. Millar) กล่าวว่านโยบายต่างประเทศ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของประเทศหนึ่งกับประเทศอื่น ๆ
จากความหมายดังที่กล่าวมา พอสรุปได้ว่านโยบายต่างประเทศ หมายถึงวิธีดำเนินการเพื่อการนำไปปฏิบัติที่มุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของประเทศอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศตน การกระทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสำคัญของนโยบายต่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดสันติภาพหรือความขัดแย้งขึ้นได้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งประเทศต่าง ๆ มักจะดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้ฝ่ายตนได้เปรียบหรือได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ดังนั้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศ จึงมีความสำคัญอยู่ 2 ประการ ดังนั้น
1. การรักษาเอกราชและความมั่นคง นโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศจะมีลักษณะมุ่งต่อต้านการขยายตัวของประเทศอื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นภัยอันตรายต่อเอกราชและความมั่นคงของประเทศตน สมมุติฐานที่ว่า หากรัฐของตนเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ก็จะมุ่งขยายอำนาจของรัฐ กรณีตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีความรู้สึกวิตกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยของตน กรณีประเทศอิรักสะสมและผลิตอาวุธชีวภาพ จึงหาทางบีบด้วยวิธีการทางการทูต จนในที่สุดต้องใช้กำลังทหารเข้าทำสงครามและยึดครองประเทศอิรักอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าเอกราชและความมั่นคงของประเทศเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
2. การแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญควบคู่กับผลประโยชน์ทางการเมือง ชาติมหาอำนาจจะใช้นโยบายทางเศรษฐกิจการค้าขายและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เพื่อแผ่ขยายลัทธิอุดมการณ์ วัฒนธรรม และเพิ่มอิทธิพลของตนในประเทศอื่น ๆ เช่น การใช้การค้าเพื่อเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ และการทำให้ประเทศอื่น ๆ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตน เช่น สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้เอกชนของตนเข้าไปลงทุนกิจการอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ทางการเมือง เช่น ลงทุนด้านกิจการน้ำมัน ในเวเนซุเอลา ลิเบีย และซาอุดีอาระเบีย ลงทุนด้านกิจการเหมืองแร่ เกษตรกรรม และโทรศัพท์ในประเทศลาตินอเมริกา รวมทั้งการเป็นประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบต่อประเทศในแถบลาตินอเมริกา เป็นต้น โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การยกเว้นอัตราภาษีขาเข้า การตั้งกำแพงภาษี หรือการจำกัดประเภทสินค้าขาเข้า เป็นต้น
นอกจากการค้าแล้ว การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ด้วยการกู้ยืมหรือการให้เปล่า ขณะเดียวกันก็จะพยายามสร้างอิทธิพลทางด้านจิตวิทยาควบคู่ไปด้วย ได้แก่การให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ การเผยแพร่อุดมการณ์ลัทธิความเชื่อ และวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

องค์ประกอบของนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้น จะต้องมีองประกอบที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
1. ลักษณะของผู้กำหนดนโยบาย ลักษณะดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ภาพลักษณ์ และบุคลิกลักษณะส่วนตัวของผู้กำหนดนโยบาย เช่น ผู้นำที่มีความสุขุม รอบคอบ เยือกเย็น ย่อมมีความตัดสินใจแตกต่างจากผู้นำที่มีลักษณะอารมณ์ร้อนวู่วาม เป็นต้น ลักษณะทางด้านจิตวิทยา ความเชื่อหรือการยึดถือในอุดมการณ์ต่าง ๆ ของผู้นำหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินนโยบาย มีผลถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่คนเหล่านั้นรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมด้วย กล่าวโดยสรุปลักษณะประจำตัวของผู้นำหรือผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายมักจะปรากฏออกมาในการกำหนดหรือดำเนินนโยบายต่างประเทศที่บุคคลนั้น ๆ รับผิดชอบอยู่
2. บทบาทของผู้กำหนดนโยบาย บทบาทดังกล่าวนี้ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการแล้ว อย่างเป็นทางการ เช่น บทบาทในฐานะประมุขของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นต้น ส่วนบทบาทไม่เป็นทางการ เช่น ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีบทบาทอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาพรรคได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นเสียงข้างมาก ผู้นำพรรคจะต้องเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นผู้นำรัฐบาล บทบาทก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างประเทศด้วยก็ได้
3. ระบบราชการ หมายถึง โครงสร้างของหน่วยงานรัฐบาล กระบวนการกำดำเนินงานของหน่วยงานทางราชการที่สำคัญ ๆ กระบานการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ เพื่อการกำหนดนโยบายเทคนิคในการนำเอานโยบายต่าง ๆ ไปปฏิบัติ ทัศนคติของข้าราชการในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายต่างประเทศที่มีต่อนโยบายภายในประเทศและต่อสวัสดิการของรัฐโดยทั่วไป
ส่วนการปกครองระบบเผด็จการนั้น การที่กลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มผลประโยชน์จะเข้ามามีอำนาจต่อการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศได้น้อยกว่าประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพราะว่าระบบราชการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากศูนย์กลาง การจะดำเนินนโยบายใด ๆ ก็ตามมักจะทำได้อย่างรวดเร็วก่อนที่ฝ่ายใดจะสามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้อย่างจริงจัง
4. ชาติ เป็นองค์ประกอบที่กำหนดอำนาจของรัฐ เช่น องค์ประกอบด้านภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ขนาด ดินฟ้าอากาศทรัพยากรธรรมชาติที่แต่ละชาติมีอยู่ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น รัฐที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรสองด้าน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาย่อมได้เปรียบกว่าโปแลนด์ที่มีที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
นอกจากนั้น เศรษฐกิจก็มีความสำคัญยิ่งต่อการกำหนดนโยบายของแต่ละรัฐความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ จำนวนผลิตภัณฑ์ประชาชาติรวม ผลผลิตทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ ต่างก็มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า รัฐที่มีทรัพยากรสำคัญ เช่น น้ำมัน ย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่ารัฐที่ไม่มีน้ำมัน เพราะน้ำมันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากรัฐขาดน้ำมัน เศรษฐกิจก็จะหยุดชะงักอยู่กับที่ ดังนั้น รัฐที่มีน้ำมันก็อาจจะอาศัยน้ำมันมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ ดังเช่น ที่กลุ่มโอเปกกระทำได้สำเร็จ และทำให้ประเทศในกลุ่มนี้มีสิทธิ์มีเสียงเพิ่มมากขึ้นในเวทีการเมืองโลก
ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เช่น เชื่อว่าในระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่มีการควบคุมทางด้านเศรษฐกิจจากศูนย์กลางนั้น มักจะสามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทางด้านการเมืองได้เสมอ ในขณะที่ประเทศทุนนิยมจะนำเอานโยบายทางเศรษฐกิจมาใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการเมือง หรือเพื่อประโยชน์ของรัฐ โดยเฉพาะมักเป็นไปได้ยาก เพราะว่าเอกชนได้เข้ามามีส่วนในการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐเป็นอย่างมาก และเอกชนจะพยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่าต่อรัฐ
ส่วนทางด้านสังคมนั้น หากสังคมใดมีความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมมาก สังคมก็มีแนวโน้มที่จะแตกแยกความสามัคคีในชาติมีน้อย ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เพราะการที่จะกำหนดนโยบายใด ๆ ลงไปก็อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่ การศึกษา ภาษา ศาสนา สีผิว เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม สถานภาพทางสังคม การกระจายรายได้ ล้วนเข้ามามีผลต่อการกำหนดนโยบายทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ในดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยมีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่รัฐจะกำหนดนโยบายใด ๆ ก็ตาม รัฐจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้อยู่เสมอ
ความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ ภาพพจน์ ลักษณะประจำชาติ อุดมการณ์ คุณภาพของรัฐบาล เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเช่นกัน เช่น การที่ญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างใหญ่หลวง ย่อมทำให้คนญี่ปุ่นมีความทรงจำเกี่ยวกับภัยภิบัติอันเกิดจากสงครามได้เป็นอย่างดี จนชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากไม่ต้องการให้ประเทศของตนเข้าร่วมในการแข่งขันทางอาวุธกับชาติอื่น ๆ อีก
5. ระบบ ในที่นี้หมายถึง ระบบระหว่างประเทศ เช่น ระบบดุลแห่งอำนาจ ระบบสองขั้วอำนาจ หรือระบบหลายขั้วอำนาจ เป็นต้น ระบบเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ เช่น ประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น ได้ดำเนินนโยบายที่ผูกพันกับสหรัฐอเมริกามาก ต่อมาระบบระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ สงครามเย็นได้ลดความตึงเครียดลง ขณะเดียวกันประเทศไทยหันไปใช้นโยบายผูกมิตรกับจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นต้น นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ ระบบพันธมิตร การพึ่งพาหรือพึ่งพิงระหว่างประเทศต่างถูกจัดเป็นองค์ประกอบที่เรียกว่าระบบนี้
องค์ประกอบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐ เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะทำหน้าที่กำหนดฐานะบทบาทและขีดความสามารถของรัฐในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้

เป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ
หลักการพื้นฐานของการกำหนดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็เพื่อการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังนี้
1. การรักษาสันติภาพ สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่า การเมืองระหว่างประเทศมีความเป็นไปได้ทุกขณะที่จะใช้ความรุนแรง อันได้แก่ การใช้กำลังอาวุธและกำลังทหารเป็นเครื่องมือในการระงับความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น การก่อการร้าย 11 กันยายน สงครามสหรัฐอเมริกากับอิรัก ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เป็นต้น เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐต่างๆ จึงพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยกำหนดเป้าหมาย เพื่อการรักษาสันติภาพ ดังจะเห็นได้จากมีการตกลงจำกัดอาวุธ และลดอาวุธ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ หรือมีความพยายามในการตกลงกัน การตกลงกันจำกัดการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ
2. การสร้างความมั่นคง ความมั่นคงเป็นหลักสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยทั่วไป จะเห็นได้ว่านโยบายการแผ่อิทธิพลและอำนาจของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคต่างๆ ของโลกนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นคงในดุลยภาพของอำนาจระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสอง หรือในอดีต ไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบผูกมิตรกับจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศในสมาคม อาเซียนก็เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในกรณีที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเวียดนาม กัมพูชา และลาว ที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง เป้าหมาย ของนโยบายต่างประเทศในแง่ของการสร้างความมั่นคงนี้ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากกว่าเป้าหมายเพื่อสันติภาพเสียอีก
3. การรักษาอำนาจ การรักษาสถานภาพแห่งอำนาจรัฐต่างๆ จะรักษาอำนาจและฐานะของตนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมิให้ตกต่ำลง ดังจะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกาได้ขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งแข่งขันกันมีอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บูช ได้หันมาสร้างระบบแกนพันธมิตร 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก เพื่อประสานระบบความมั่นคงและรักษาอำนาจของสหรัฐเมริกาในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนานั้น สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาโดยการลงทุน การให้ความช่วยเหลือในรูปการให้กู้ยืมและการให้เปล่า ตลอดจนการให้การสนับสนุนการรวมตัวกัน เช่น สมาคมอาเซียน และตลาดร่วมยุโรป เป็นต้น
4. การรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันปัญหาความแตกต่างของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ด้อยพัฒนาปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ปัญหาความยากจนและความอดอยากในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยชาติอภิมหาอำนาจต่างก็แข่งขันเพื่อมีอิทธิพลในการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยากจนเหล่านี้ แต่บทบาทที่แท้จริงของอภิหมาอำนาจนี้ก็คือ การแข่งขันกันสร้างเขตอิทธิพลของตนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาถูกแบ่งออกเป็นค่ายสังคมนิยมและค่ายเสรีนิยมซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต่างก็เป็นตลาดวัตถุดิบ ตลาดแรงงาน และตลาดสินค้า รวมทั้งต้องพึ่งพิงกับประเทศอภิมหาอำนาจนั่นเอง นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจได้ใช้แนวทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์ และการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนอีกด้วย เช่น การใช้นโยบายทุ่มสินค้า นโยบาย ปิดล้อม เป็นต้น

การกำหนดนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้น แต่ละประเทศมีเป้าหมายและวิธีการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนแตกต่างกันไป ซึ่งรัฐจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย
รูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้นมีรูปแบบต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางการเมือง ฐานอำนาจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ตลอดจนอุดมการณ์ ผลประโยชน์ และความสนใจของผู้กำหนดนโยบายเป็นสำคัญ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้
1. นโยบายสมเหตุสมผล รูปแบบของนโยบายนี้ถูกกำหนดหลังจากที่ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมด เช่น เมื่อถูกประเทศหนึ่งยื่นคำขาดขอเดินทัพผ่านประเทศตน ประเทศที่ถูกยื่นคำขาดจะพิจารณาว่าหนทางปฏิบัติของตนมีได้กี่ทาง เช่น ปฏิเสธการยื่นคำขาด และต่อสู้ทันทีหากมีการยกตราทัพเข้าประเทศ ยอมตามคำคู่นั้น เจรจาถ่วงเวลา หรือขอให้มหาอำนาจอื่นเข้าแทรกแซง เมื่อกำหนดทางเลือกแล้ว ก็จะพิจารณาว่าทางเลือกแต่ละทางนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร หลังจากนั้นก็จะเลือกหนทางที่ให้ผลดีที่สุดหรือก่อผลเสียน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ เช่น กรณีที่สวิตเซอร์แลนด์เลือกนโยบายเป็นกลาง เพราะพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ แล้ว เห็นว่านโยบายนี้ตอบสนองผลประโยชน์ของชาติได้ดีที่สุด เป็นต้น
2. นโยบายโดยผู้นำ รูปแบบนโยบายโดยผู้นำนี้จะถูกกำหนดโดยผู้นำเพียงคนเดียว หรือเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้น ไม่ว่าประเทศจะมีการปกครองแบบใดก็ตาม สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ เช่น การกำหนดนโยบายเพื่อความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ซึ่งกำหนดโดยฮิตเลอร์และกลุ่มผู้นำทางทหารไม่กี่คน หรือนโยบายวงศ์ไพบูลย์ร่วมกันแห่งเอเซีย ซึ่งผู้นำทางทหารของญี่ปุ่นกำหนดในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย นโยบายโดยผู้นำนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีการเลือกตัวผู้นำโดยกระบวนการประชาธิปไตย เมื่อมีการเลือกสรรได้แล้วผู้นำเพียงไม่กี่คนก็จะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย
3. นโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป รูปแบบของนโยบายนี้เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิม เช่น นโยบายคบค้ากับจีนของประเทศไทยซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดจากการปรับตัวตามสถานการณ์กล่าวคือ นโยบายของไทยเริ่มมีลักษณะผ่อนคลายความตึงเครียดและโอนอ่อนเข้าหาจีนอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นนโยบายคบค้ากับจีนดังที่เป็นอยู่ เป็นต้น รูปแบบการกำหนดนโยบายเช่นนี้มีลักษณะอนุรักษ์นิยม กล่าวคือ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังรักษาลักษณะบางอย่างของนโยบายเดิมเอาไว้มิได้เปลี่ยนแปลงโดยทันที
4. นโยบายแบบการเมือง ในประเทศซึ่งมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มที่มีอำนาจหรือมีบุคคลหลายกลุ่มเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอุดมการณ์และผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป รูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศอาจมีลักษณะการเมือง คือ บุคคลแต่ละกลุ่มจะเสนอแนวนโยบายที่ตนเห็นสมควร และดำเนินการเจรจาต่อรอง หรือใช้วิธีการทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้นโยบายของตนปรากฏออกมาโดยมีลักษณะประสานผลประโยชน์และอุดมการณ์ของบุคคลหลายกลุ่ม ซึ่งอาจไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมที่สุด แต่เป็นนโยบายที่สอดประสานผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ดีที่สุด
5. นโยบายแบบการเมืองโดยระบบราชการ รูปแบบของนโยบายนี้ ระบบราชการจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลติดตามวิเคราะห์ข่าวคราวเหตุการณ์ระหว่างประเทศ จัดทำข้อเสนอแนะ รวมทั้งทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งหน่วยราชการอาจเสนอเหตุผลและข้อมูลที่สนับสนุนทางเลือกหนึ่งซึ่งเห็นว่าเหมาะสมที่สุดและเสนอเหตุผลสนับสนุนทางเลือกอื่น ๆ อย่างไม่หนักแน่น
รูปแบบต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเหล่านี้นั้นในทางปฏิบัติรัฐต่าง ๆ มิได้ใช้แบบใดแบบหนึ่งเสมอไป แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ประการหนึ่ง และขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐเห็นสมควรอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแบบแผนหรือรูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศจะเป็นอย่างไร ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศพึงต้องคำนึง และพิจารณาถึงผลประโยชน์แห่งชาติของตนอยู่เสมอ
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครอง ความแตกต่างในลัทธิอุดมการณ์ และในบางครั้งรัฐบาลต่างคณะกันในรัฐเดียวกันนั้นเองก็อาจใช้กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศแตกต่างกันไปด้วย ดังนี้
1. ระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาของอังกฤษ กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศที่ได้ตัดสินใจกำหนดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี การตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลจะถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา ด้วยการตั้งกระทู้ถามและวิจารณ์นโยบายเหล่านั้น หากรัฐบาลมาจากเสียงข้างมากในรัฐสภา นโยบายต่างประเทศนั้นก็จะได้รับการยอมรับสนับสนุน ในทางกลับกัน หากฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ นโยบายต่างประเทศนั้นก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ในบางกรณีถึงกับทำให้คณะรัฐบาลอาจต้องลาออกจากตำแหน่ง
ส่วนระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้การใช้อำนาจของสถาบันนิติบัญญัติกับสถาบันฝ่ายบริหาร แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดนั้น ประธานาธิบดีโดยรัฐมนตรีต่างประเทศและคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านของประธานาธิบดีจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ทั้งนี้ประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว หรือประธานาธิบดีโดยความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดนโยบายขั้นสุดท้าย เมื่อกำหนดเป็นนโยบายได้แล้ว ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารสามารถนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติได้ทันที
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศในประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น รัฐสภาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
นอกจากนี้ บทบาทของสถาบันที่มิใช่องค์การฝ่ายรัฐ เช่น สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มติมหาชน และนักวิชาการก็สามารถเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ โดยการเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์ในด้านต่าง ๆ ในบางกรณี มติมหาชน และการเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีส่วนทำให้รัฐบาลต้องปรับปรุงหรือยกเลิกนโยบายต่างประเทศนั้นได้ ดังตัวอย่างในปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเลิกเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงครามอินโดจีน โดยรัฐสภาไม่สนับสนุนด้านงบประมาณ อันเป็นผลมาจากการเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
2. ระบอบเผด็จการ ในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศแตกต่างไปจากประเทศประชาธิปไตย กล่าวคือ ระบอบคอมมิวนิสต์จะมีพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวที่ครองอำนาจการเมืองโดยสมบูรณ์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงเป็นองค์กรที่กำหนดแนวนโยบายต่างประเทศตามที่เห็นสมควรโดยพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ระดับสูงสุด ส่วนองค์การฝ่ายรัฐบาล เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศจะทำหน้าที่เพียงผู้ที่นำนโยบายไปปฏิบัติเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐต่าง ๆ ย่อมแตกต่างกันไปตามประเภทของระบอบการเมืองการปกครอง ซึ่งจะต้องมีเป้าหมายเพื่อการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติมากที่สุด มีความเสี่ยงในการนำไปปฏิบัติน้อยที่สุดและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศในแต่ละขณะให้มากที่สุด
การดำเนินนโยบายต่างประเทศ
การดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ รัฐจึงเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ การนำนโยบายต่างประเทศไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ จะรับผิดชอบในระดับสูงหรือระดับนโยบาย ส่วนระดับรองลงมาอาจมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเป็นตัวแทน เช่น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเจรจาและทำสัญญาซื้อน้ำมันดิบกับกลุ่มประเทศโอเปค เป็นต้น ซึ่งในระดับปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการประจำกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทางการเมืองระหว่างประเทศมักใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ดังนี้
1. การทูต คือ การรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน การทูตจะช่วยลดความขัดแย้งด้วยการเจรจาหาทางประนีประนอมระหว่างกัน การทูตเป็นเครื่องมือสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยเสมอกัน แต่ประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากการใช้เครื่องมือทางการทูตนั้นย่อมแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับศิลปะของนักการทูตในการเจรจาซึ่งถือกันว่าการทูตเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ เช่น การชี้ชวน โน้มน้าวและจูงจิตใจ การบีบบังคับ และการข่มขวัญ เป็นต้น
2. เครื่องมือทางจิตวิทยา การใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น รัฐต่าง ๆ จะใช้เครื่องมือนี้ได้ไม่เท่าเทียมกัน บางรัฐมีความสามารถในการใช้สูง เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต แต่บางรัฐอาจมีขีดความสามารถที่จำกัด โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน เป็นต้น การใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาจะอยู่ในรูปของการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีมากในช่วงสงครามเย็นเป็นต้นมาสหรัฐอเมริกาถือว่า การแถลงข่าวเพื่อผลทางด้านจิตวิทยาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ โดยมีสำนักงานแถลงข่าวอเมริกัน (USIA) และสถานีวิทยุกระจายเสียงจากอเมริกา (Voice of America) เป็นหน่วยงานสำคัญในขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียต ก็พยายามแข่งขันในด้านนี้ โดยมีสำนักงานแถลงข่าวทาสส์ (Tass) และสำนักงานโฆษณาระหว่างประเทศ (AGITPROP) เป็นต้น นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว การให้ความช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การให้ทุนไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางจิตวิทยา
3. เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ เครื่องมือทางเศรษฐกิจนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการเมือง การทหาร และจิตวิทยา เมื่อรัฐมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อกันแล้ว รัฐอาจได้ผลประโยชน์ทางการเมืองในแง่ของการขยายอิทธิพล ได้ประโยชน์ทางการทหาร เช่น การตั้งฐานทัพ และประโยชน์ทางจิตวิทยา เช่น ความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อกัน เป็นต้น
4. เครื่องมือทางการทหาร การใช้เครื่องมือทางการทหารเป็นการใช้เพื่อการตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกัน หรือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นเพื่อการขยายเขตอิทธิพลของตน การใช้เครื่องมือทางทหารนี้มีรูปแบบต่าง ๆ เช่น สงครามในรูปแบบต่าง ๆ การแทรกแซงทางทหาร การงดการซื้อขายและให้ความช่วยเหลือทางทหาร เป็นต้น

ผลกระทบของนโยบายต่างประเทศ
การดำเนินกิจกรรมเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้น ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบระหว่างรัฐด้วยกัน ผลกระทบดังกล่าวนี้มี 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ความร่วมมือ การที่รัฐต่าง ๆ ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่นำไปสู่ความร่วมมือนั้นมีเป้าหมายร่วมกันในบางสิ่งบางอย่าง เช่น ความมั่นคงร่วมกัน การป้องกันร่วมกัน และสันติภาพ เป็นต้น การร่วมมือกันในระดับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น สมาคมอาเซียน องค์การตลาดร่วมยุโรป
เป็นต้น รวมทั้งการที่รัฐประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ เช่น สหภาพไปรษณีย์สากล เป็นต้น
2. ความขัดแย้ง สภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันในทางอำนาจอันนำไปสู่การใช้ความรุนแรงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง “ผลประโยชน์ของชาติ” เป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามลดระดับความขัดแย้งต่าง ๆ โดยการใช้การต่อรองเป็นแนวทางเพื่อลดความขัดแย้ง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามซึ่งเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดนั่นเอง

5 ความคิดเห็น:

  1. อยากทราบแหล่งที่มาของข้อมูลได้ไหมค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. ย่อหน่อยได้มั่ยค่ะ
    เยอะเกินอ่านไม่ไหว
    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  3. ของนโยบายต่างประเทศไทยกับลาตินอเมริกา หน่อยครับ
    ขอบคุณครับ
    ส่งมาที่ apichat123@hotmail.com

    ตอบลบ
  4. มีข้อมูลของนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อประเทศเยอรมนีไหมครับ
    ผมหาข้อมูลจากที่ต่างๆแล้วไม่เจอเลยครับ
    เลยอยากทราบว่ามีข้อมูลเรื่องนี้ไหม
    ถ้ามีข้อมูลช่วยส่งมาตามนี้ได้ไหมครับ kittipong.man001@gmail.com
    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  5. มีข้อมูล(นโยบายต่างประเทศของจีนทางด้านเศรษฐกิจที่มีต่อพม่า หลังวิกฤตต้มยำกุ้งหรือปัจจุบันไหมค่ะ)ขอบคุณมากค่ะ

    ตอบลบ

ร่วมกันแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ