วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พระราชฐานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

พระราชฐานะ
พระราชสถานภาพของพระมหากษัตริย์ไทย ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่มากนัก กล่าวคือ ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ทรงเป็นผู้ที่มิอาจถูกละเมิดได้ ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก และทรงเป็นจอมทัพไทย การดำรงไว้ซึ่งพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละเรื่อง มิได้เหมือนกับพระมหากษัตริย์ในแถบยุโรปและประเทศอื่น ๆ แต่มีความละเอียดอ่อนแฝงเร้นไปด้วยปรัชญา การเมือง การปกครองแบบไทย ๆ ที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน คือ
ประการที่หนึ่ง ทรงเป็นพระประมุขที่คอยแบกความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน เหมือนบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร ต้องทรงตรากตรำพระวรกายและทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองท่ามกลางฝ่ายการเมืองต่าง ๆ
ประการที่สอง ทรงเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทั้งชาติ อันเป็นไปโดยสายเลือดและความศรัทธาเลื่อมใสในพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจ และทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ
ประการที่สาม ทรงมิอยู่ในฐานะจะถูกละเมิดหรือถูกฟ้องร้องใด ๆ ได้ การใช้พระราชอำนาจบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานองคมนตรี เพื่อให้บุคคลเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบในความถูกต้อง เนื้อหาสาระที่สามารถตรวจสอบได้ ชี้แจงได้
ประการที่สี่ ดำรงพระราชสถานะเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ตามนิติราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล วิธีการอุปถัมภ์ศาสนาต่าง ๆ ก็มีแตกต่างกันไปแต่ในศาสนาพุทธ ยึดหลักการถวาย สมณศักดิ์และค่านิตยภัตต์ให้แก่พระเถรานุเถระ เพื่อไปปกครองดูแลสงฆ์ เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ฯลฯ
ประการที่ห้า ดำรงพระราชสถานะ "จอมทัพไทย" เป็นมรดกตกทอดมาจากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยต้องต่อสู้รบพุ่งเพื่อปกปักรักษาคุ้มครองเอกราชของชาติ และปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญฯ ยังได้ถวายพระราชอำนาจเหนือบรรดาทหารทั้งปวงด้วย
ที่กล่าวมาในตอนนี้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระราชสถานะที่ชัดเจนแตกต่างกับพระมหากษัตริย์ของชาติใด ๆ ในโลกนี้
พระราชอำนาจตามนิติราชประเพณี
นิติราชประเพณีทางการเมืองการปกครองของไทย มีมากมายและมีมานานช้า เป็นนิติราชประเพณีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่ยังมิได้มีนักรัฐศาสตร์ผู้ใด มหาวิทยาลัยใดหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่า มีนิติราชประเพณีใดบ้างที่สามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสมพอดีกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 7 ก็กล่าวไว้ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นั่นก็หมายความว่า ประเพณีการปกครองเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและต้องศึกษากำหนดให้ชัดเจน
ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นและมีกรณีต่าง ๆ ที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้นิติราชประเพณีในอดีตที่มี มาปรับใช้อย่างแนบเนียนกลายเป็นวัฒนธรรมอำนาจอย่างหนึ่ง
วัฒนธรรมการคิดเรื่องอำนาจของยุโรป - สหรัฐอเมริกา จะเน้นที่หลักความเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) แบบตัวใครตัวมัน ตั้งอยู่บนความเสมอภาค (Equality) ตามนิติธรรม (The Rule of Law) และมีการแบ่งแยกปริมณฑลแห่งอำนาจ (Separation of Spheres) ซึ่งแตกต่างกับวัฒนธรรมอำนาจของไทยที่มีมาแต่โบราณกาลซึ่งยึดหลักการใช้อำนาจด้วยธรรมะ ด้วยเมตตา และด้วยความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
วัฒนธรรมอำนาจแบบไทย ๆ เช่นนี้สามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้จากนิติราชประเพณีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และคนไทย กล่าวคือ

ประการแรก คนไทยทั้งประเทศมีความสำนึกร่วมกันว่า พระมหากษัตริย์ของไทยเกือบทุกพระองค์เป็นประดุจบิดาที่คอยปกป้องคุ้มครองชีวิตของตนเอง ความรู้สึกเช่นนี้ยังฝังแน่นอยู่ในสายเลือดของคนไทย จนเกิดความผูกพันอันแน่นแฟ้นที่คนไทยจะขาดเสียซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้ และคนไทยที่แท้จริงต่างปลงใจศรัทธามีความเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์
พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร ได้แสดงปาฐกถาไว้ตอนหนึ่งว่า
"…ในวัฒนธรรมเดิมของคนไทยเรานั้น พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ดุจพ่อเมือง เป็นผู้นำออกรบพุ่งในเวลามีศึกสงคราม ทั้งเป็นพ่อผู้ปกครอง เป็นทั้งตุลาการของราษฎรในเวลาปกติ ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนเป็นไปอย่างสนิทสน”
คำกล่าวนี้ยังคงใช้กับคนไทยได้ในสมัยปัจจุบัน

ประการที่สอง นิติราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างจำกัดต่อคนไทยในชาติ ดังเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์จะทรงตรากฎหมายมาใช้บังคับราษฎรต้องขอโทษกันแล้วขอโทษกันอีก ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลอย่างละเอียดพิสดาร อ้างถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร อ้างบาลีจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มโนสาราจารย์ไปได้มาจากขอบจักรวาล มิได้ออกกฎหมายมาบังคับใช้ตามอำเภอใจ นอกจากนี้ยังทรงออกกฎมณเฑียรบาลมายับยั้งการใช้พระราชอำนาจของ พระองค์เอง ผิดกับวัฒนธรรมของตะวันตกที่ออกกฎหมายมาตามใจของผู้เป็นรัฐาธิปัตย์ ดังกรณีเมียซีซ่าสมัยกรุงโรมที่กล่าวไว้ว่า เพราะฉันต้องการอย่างนี้ เพราะฉันชอบอย่างนี้ จงไปออกเป็นกฎหมาย หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กล่าวว่า เรานี่แหละรัฐ
นิติราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงถือเอาราษฎรเป็นสำคัญเช่นนี้ ได้เป็นมรดกตกทอดกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ถือเป็นหลักการปกครองราษฎรโดยไม่ได้ทรงยึดมั่นและผูกขาดอยู่ในพระราชอำนาจเด็ดขาดที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอยู่ กลับพยายามเตรียมการต่าง ๆ ให้ราษฎรได้มีส่วนในการใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 5 6 และ 7 แห่งราชวงศ์จักรี ต้องยอมรับว่า นิติราชประเพณีที่ถือเอาราษฎรเป็นสำคัญนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่เฉพาะในสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย

ประการที่สาม นิติราชประเพณีที่ถือเอาธรรมะเป็นเครื่องมือในการ ปกครองราษฎร ดังจะเห็นได้จาก ความมีใจกว้างขวางให้ราษฎรมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา ความมีเมตตาแก่สรรพสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และการให้อภัย การเอาชนะโดยธรรม การควบคุมตนเอง การเป็นที่พึ่งพิง การละอบายมุข การทำหน้าที่ทางสังคมด้วยความถูกต้องดีงามของแต่ละฝ่าย การตรวจสอบดูแลทุกข์สุขของราษฎร
ด้วยวัฒนธรรมนี้ พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์จึงต้องทรงมีความรู้ ( ราชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศิลปวิทยาการต่าง ๆ ) ทรงเป็นคนดี ทรงอุทิศตนเพื่อผู้ใต้ ปกครองทุกหมู่เหล่าได้มีความสุข ทรงส่งเสริมธรรมะ คนดี สิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทรงสร้างความร่มเย็นเป็นสุขและทรงห่วงใยใกล้ชิดประชาชน

ประการที่สี่ นิติราชประเพณีในการรักษาไว้ซึ่งเอกราชความเป็นไท และคนไทยที่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ปรากฏมาแล้วจากการสูญเสียเอกราชอธิปไตยในสมัยกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้ง ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องพยายามกอบกู้เอกราชคืนมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงทำศึกป้องกันประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งอธิปไตย ความเป็น เอกราชของชาติจากการคุกคามของจักรวรรดินิยม
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชผู้ทรงถูกบีบบังคับให้เข้ารีตนับถือคริสตศาสนาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงใช้ปรีชาญาณเอาตัวรอดด้วยพระราชดำรัสว่า
"ขอบพระทัยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเป็นนักหนาที่มีความสนิทเสน่หาในข้าพเจ้า แต่การที่เปลี่ยนศาสนาที่เคยนับถือมา 2,229 ปีแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนอื่นขอให้บาทหลวงทำให้ราษฎรของข้าพเจ้าเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ให้หมดเสียก่อน แล้วข้าพเจ้าจะเข้าตามภายหลัง อีกประการหนึ่งเล่าทรงประหลาดพระทัยเป็นหนักหนาว่า เหตุใดพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจึงก้าวก่ายอำนาจของพระเจ้า เพราะการที่มีศาสนาต่าง ๆ ในโลกนั้น มิใช่ความประสงค์ของพระเจ้าดอกหรือ จึงมิได้บันดาลให้มี เพียงศาสนาเดียวในเวลานี้ พระเจ้าคงปรารถนาให้ข้าพเจ้านับถือพระพุทธศาสนาไปก่อน เพราะฉะนั้น จะรอคอยความกรุณาของพระองค์บันดาลให้นับถือ คริสตศาสนาในวันใด ก็จะเปลี่ยนไปนับถือคริสตศาสนาเมื่อนั้น จึงขอฝากชะตากรรมของข้าพเจ้าและกรุงศรีอยุธยาไว้ให้อยู่ในความบันดาลของพระเจ้าด้วย ขอพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสสหายของข้าพเจ้า อย่าได้น้อยพระทัยเลย"

ประการที่ห้า นิติราชประเพณีที่ปรากฏมาก็คือ พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงประเทศชาติและประชาชน ยิ่งกว่าพระองค์เองและพระราชวงศ์ต้องเสด็จพระราชกรณียกิจการสงครามบ้าง ประพาสเยี่ยมเยียนราษฎรบ้าง เพื่อนำเอาความทุกข์ยากเดือดร้อนเข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ทรงถือเอาราษฎรคือบุคคลที่สามารถเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดกับพระองค์มากกว่าข้าราชการหรือบุคคลใด ๆ
ประการที่หก นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ได้เกิดมีนิติราชประเพณีใหม่ขึ้นมาในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะต้องเป็นกลางทางการเมือง ปลอดจากการเมือง ปราศจากฝักฝ่าย พรรคการเมืองใดขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องเป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งสิ้น แม้รัฐบาลจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันบริหารประเทศ ก็มิได้เกิดปัญหากับสถาบันพระมหากษัตริย์
นิติราชประเพณี ทั้ง 6 ประการที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าไม่มีนิติราชประเพณีใดขัดหรือแย้งกับแนวความคิดอุดมการณ์ในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่กลับสนับสนุน ส่งเสริมวัฒนธรรมการปกครองแบบไทย ๆ เราที่จะต้องปรับการใช้ อำนาจ สิทธิ และปัจเจกนิยม ให้สอดคล้องกับ ธรรมะ ความเมตตา และความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
วัฒนธรรมความคิดทางการปกครองของไทยปัจจุบันเริ่มมีอิทธิพลต่อการนำความคิดแบบตะวันตกในทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจเข้ามาใช้ จึงทำให้การปกครองของไทยมีปัญหา แม้จะแก้ระบบให้ดีอย่างใดต่อไปอีกก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติเสมอ ดังเช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ดูแล้วดี แต่วันนี้สร้างปัญหาทำให้เกิด การเมืองรัฐสภาที่ผูกขาด ไม่สามารถตรวจสอบได้ สร้างความวิตกห่วงใยขึ้นในหมู่คนไทยว่าจะเกิดวิกฤติการณ์รัฐธรรมนูญขึ้นอีก ในที่สุดคนไทยก็คงต้องพึ่งพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ทรงแก้ไขเยียวยาให้ เหมือนวิกฤติการณ์ทุกครั้งที่ผ่านมา

พระราชอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ปกครองมาแต่โบราณกาลนับตั้งแต่ยุคต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำชาติไทยทั้งในยามศึกและยามสงบ ทรงปกป้องคุ้มครองภยันตรายแก่ประชาชน และทรงเป็นผู้รวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่นมาโดยตลอด แม้จะทรงมีพระราชอำนาจอย่างล้นพ้นแต่ก็ทรงใช้เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติอย่างแท้จริง นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ ซึ่งการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ต้องทรงตรากตรำพระวรกายเป็นอย่างมากแต่ก็มิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบาก และมิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใดจึงกล่าวได้อย่างแท้จริงว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในการยังความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติเสมอมา นับว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย ทำให้สังคมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองและแตกต่างจากสังคมอื่น

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย กล่าวคือ
สมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์นอกจากจะทรงเป็นนักรบแล้วในทางการเมืองการปกครองก็เป็นพระประมุขที่ปกครองราษฎรเหมือนพ่อปกครองลูก เสมือนเป็นหัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่เรียกว่า "พ่อขุน" โดยมีธรรมะเป็นหลักในการปกครอง และเป็นตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างราษฎรกันเองหรือกับ "ลูกเจ้าลูกขุน" ราษฎรจึงมีความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย
สมัยอยุธยา เปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากพ่อปกครองลูกเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยเปลี่ยนคำเรียกผู้ปกครองจาก "พ่อขุน" มาเป็น "พระมหากษัตริย์" โดยพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในฐานะต่างๆ กันดังนี้
ประการแรก ในฐานะทรงเป็นเจ้าชีวิต หมายความว่า ทรงมีพระราชอำนาจเหนือชีวิตคนทุกคนเพราะกฎหมายทั้งหลายล้วนมาจากพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้นและบุคคลอื่นจะใช้อำนาจนั้นได้ ก็ต่อเมื่อได้รับพระราชทานอาญาสิทธิ์ จากพระมหากษัตริย์ก่อน
ประการที่สอง ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน หมายความว่า ทรงสามารถใช้พระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักรจะพระราชทานที่ดินให้แก่ผู้ใดก็ได้ หรือจะทรงเรียกคืนเมื่อใดก็ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังทรงเป็นจอมทัพในการศึกสงครามทำให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะทำการใด ๆ ก็ได้
ประการที่สาม ในฐานะธรรมราชา หมายความว่า ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกในพุทธศาสนาและทรงใช้พระราชอำนาจปกป้องรักษาสถาบันแห่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนศีลธรรมแห่งศาสนาด้วย ประการสุดท้าย ในฐานะเทวราช หมายความว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการแล้ว พระบรมราชโองการนั้นถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดจะขัดขืนมิได้ แม้แต่จะวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในทางใด ๆ ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น ดังนั้น พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา จึงมีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้น
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงดำรงอยู่ในลักษณะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการยกเลิกฐานะสมมติเทวราชของพระมหากษัตริย์โดยการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น ไปในทางที่อำนวยประโยชน์สุขแก่ราษฎรมากกว่าที่จะทรงกระทำตามพระราชหฤทัย ดังจะเห็นได้จากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแนวความคิดในการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จากการที่ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดสมบูรณ์ทุกประการไปสู่การกระจายพระราชอำนาจและการยอมรับให้ขุนนางหรือข้าราชการทั้งปวงมีสิทธิมีส่วนในการบริหารประเทศร่วมกับพระมหากษัตริย์ แนวคิดนี้ปรากฎเป็นรูปธรรมในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจะเห็นจากทรงจัดระเบียบการบริหารราชการเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนกลางได้จัดตั้งกระทรวง กรม ต่าง ๆ ขึ้นมีเสนาบดีประจำแต่ละกระทรวงรับผิดชอบและบังคับบัญชา ส่วนการบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั้นได้จัดรูปแบบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล มีเทศาภิบาลซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางปฏิบัติหน้าที่บังคับบัญชาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้นแต่ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 พระมหากษัตริย์ต้องทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่ทรงใช้ในฐานะองค์อธิปัตย์แต่เดิมถูกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องทรงใช้ภายใต้ "คำแนะนำและยินยอม" ของสถาบันทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญกำหนด นับเป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองอย่างแท้จริงของการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีเวลาสั้นมากเพียงปีเศษ พระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสละราชสมบัติ และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระมหากษัตริย์แทบจะมิได้ทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญด้วย พระองค์เอง หากแต่ได้มีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนเกือบตลอดรัชสมัยของพระองค์ จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองหลายครั้ง มีการร่างรัฐธรรมนูญอยู่หลายฉบับแต่ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ฉบับก็ตาม โดยหลักใหญ่ใจความแล้วพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีอยู่ตามลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญมิได้มีการเปลี่ยนแปลงจะมีการแก้ไขบ้างก็เพียงเล็กน้อยโดยโน้มไปในทางที่จะถวายพระเกียรติยศหรือเพิ่มพูนพระราชอำนาจให้มากขึ้น
"พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" นั้นทรงเป็นล้นพ้นแสดงให้เห็นปรากฏเป็น 2 นัย คือ นัยแรกเป็นความหมายทางกฎหมาย นัยที่สองเป็นความหมายทางธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา
นอกจากนั้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ยังหมายความรวมถึงพระราชอำนาจตามประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมา จนถือว่าเป็นพระราชอำนาจที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ทรงใช้ได้จริงเพราะองค์กรในรัฐธรรมนูญยอมรับเช่นนั้น เช่นพระราชอำนาจที่จะทรงพิจารณาฎีกาที่ประชาชนผู้เดือดร้อนทูลเกล้าฯ ถวาย

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยมีมากมายหลายด้าน ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏในรัฐธรรมนูญและทั้งส่วนที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติดังต่อไปนี้
ก. พระราชอำนาจที่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นพระราชอำนาจที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ พระราชอำนาจในฐานะพระประมุข พระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศและความยุติธรรม พระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัย และพระราชอำนาจในด้านอื่นๆ

1. พระราชอำนาจในฐานะพระประมุข รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้เหมือนกันหรือมี
นัยเดียวกันทุกฉบับที่เป็นการรับรองพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ ได้แก่
1.1 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเพิ่มเติมว่า "ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ในทางใด ๆ มิได้"
1.2 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
1.3 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
1.4 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 บัญญัติเพิ่มเติมว่า "ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง"
ส่วนการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นพระประมุขของประเทศนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดหลักการสำคัญไว้ในมาตรา 3 ว่า"มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย "แต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" เป็นการให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยเพียงพระองค์เดียว โดยทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 บัญญัติให้ "อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย" และไม่ระบุแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 อำนาจอีกโดยที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นพระประมุขของประเทศ แทรกอยู่ในหมวดต่าง ๆ หลายหมวดได้แก่ ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ หมวด 6 ว่าด้วยรัฐสภา หมวด 7 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี หมวด 8 ว่าด้วยศาล ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติเพิ่มเติมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในหมวด 10 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและหมวด 11 ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จึงได้นำมาจัดแบ่งเป็นส่วนๆ ได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 พระราชอำนาจทางฝ่ายบริหาร
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายบริหารสาระสำคัญส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เหมือนกันทุกฉบับ ดังต่อไปนี้
1. ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ก่อนที่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี ในทางปฏิบัติจะมีการหยั่งเสียง ซึ่งทำได้หลายวิธีและมีกระบวนการแตกต่างออกไปตามแต่ละสมัยเช่น มีการหารือระหว่างหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อหาผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ในการหยั่งเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมักเลือกคนที่พรรคการเมืองเห็นว่าเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯให้ทรงแต่งตั้ง ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งตามที่ผู้มีอำนาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการถวายคำแนะนำ แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เช่นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในฐานะพระประมุขโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์และความสงบของบ้านเมืองได้
2. ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี
ภายหลังจากที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีก็จะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วไปดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อได้บุคคลที่จะประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลแนะนำ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและนำคณะรัฐมนตรีที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ ตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่
3. ทรงตราพระราชกำหนด
พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่รักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะกรณีหนึ่ง และอีกกรณีหนึ่งในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการ พิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน มีผลบังคับใช้ดังเช่น พระราชบัญญัติ แล้วเสนอให้รัฐสภาอนุมัติ
4. ทรงตราพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของ คณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ
5. พระราชอำนาจในด้านการต่างประเทศ
ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นชาติ และทรงเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นผู้แทนประชาชนชาวไทย ในการติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ และพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก สัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา นอกจากนั้นยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำในประเทศอื่น และเสด็จออกรับพระราชสาส์นตราตั้ง คือ อักษรสาส์นตราตั้ง จากเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับแต่งตั้งมาสู่ราชสำนัก
ส่วนที่ 2 พระราชอำนาจทางฝ่ายนิติบัญญัติ
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดังนี้
1. ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งยกเว้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง ส่วนใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้นำรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง
2. ทรงแต่งตั้งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับ โดยในการประชุมคราวแรกของแต่ละสภาสมาชิกจะทำการคัดเลือกประธานและรองประธาน หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง ในการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 บัญญัติให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง
3. ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับคือ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
4. ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 เรียกว่า"ผู้ตรวจการรัฐสภา" พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของรัฐสภา โดยประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรียกว่า"ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา" พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาโดยมีประธานวุฒิสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
5. ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ได้บัญญัติไว้เพียงฉบับเดียวคือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
6. ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ทุกคราวที่มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีสมัยแรกภายหลังการเลือกตั้งนั้น ซึ่งย่อมหมายความว่า เป็นสมัยประชุมครั้งแรกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่งจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยจึงควรจะให้โอกาสสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้น ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีเปิดสมัยประชุม ซึ่งโดยปกติแล้วกำหนดจัดรัฐพิธีนี้ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดสมัยประชุม
ส่วนการเรียกประชุมสมัยวิสามัญ แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีรัฐบาลเห็นสมควรเรียกประชุมสมัยวิสามัญก็ให้ทำเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าเป็นกรณีสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าชื่อกันร้องขอให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญ โดยให้ทำเป็นพระบรมราชโองการเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา โดยประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
นอกจากนี้การขยายระยะเวลาประชุมสมัยสามัญของรัฐสภาหรือการปิดสมัยประชุมสามัญก่อนครบกำหนด ก็ให้ทำเป็นพระราชกฤษฎีกาเช่นเดียวกัน
7. การยุบสภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับ โดยเมื่อฝ่ายบริหารตัดสินใจให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีนำเข้ากราบบังคมทูลถวาย ซึ่งพระมหากษัตริย์อาจจะพระราชทานคำแนะนำหรือท้วงติงแก่นายกรัฐมนตรี ถึงความเหมาะสมในการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามทางปฏิบัติที่เป็นมาแล้วทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้า ฯ ถวาย
8. ทรงตราพระราชบัญญัติ
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลเป็นกฎหมาย ส่วนกำหนดระยะเวลานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนั้นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 กำหนดระยะเวลาไว้ภายใน 30 วัน ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดระยะเวลาไว้ ภายใน 20 วัน
9. ทรงยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับคือ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินับเป็นพระราชอำนาจทางด้านนิติบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่ง โดยการยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้น หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติใดและพระราชทานคืนมายังสภา หรือในกรณีที่เมื่อพ้นเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ถือว่าได้ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้น ซึ่งโดยปกติ พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ ดังจะเห็นได้จากครั้งที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517 และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นพ้องด้วยแต่ไม่ได้ใช้พระราชอำนาจยับยั้งโดยตรง แต่ทรงมีพระบรมราชวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "การให้ประธานองคมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นการดึงพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวกับการเมือง"สภานิติบัญญัติจึงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามพระราชกระแส"
ในการใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติโดยตรงนั้น ได้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในคราวนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหมิ่นประมาท พุทธศักราช .... ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดดุลยพินิจของศาล และไม่สอดคล้องกับเสรีภาพของสื่อมวลชน พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อเกิน 90 วันไปแล้ว รัฐสภาไม่มีการหยิบยกขึ้นมาเพื่อลงมติยืนยันอีก
ส่วนที่ 3 พระราชอำนาจทางฝ่ายตุลาการ
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายตุลาการ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดังนี้
1. ทรงแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เรียกว่า "ตุลาการรัฐธรรมนูญ" นายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรียกว่า "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
2. พระราชอำนาจในการพิพากษาคดี
รัฐธรรมนูญบัญญัติสาระสำคัญไว้เหมือนกันทุกฉบับ โดยให้พิจารณาพิพากษาคดีของศาลต้องกระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
3. ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง
การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก่อนแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งหรือให้พ้นจากตำแหน่ง ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปีพุทธศักราช 2492 ถึงฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้เหมือนกัน ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 บัญญัติเพิ่มให้การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การย้ายต้องได้รับความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์ด้วย
4. ทรงแต่งตั้งและให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติเพิ่มให้การแต่งตั้งและให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองด้วย
5. ทรงแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเท่านั้น โดยการแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองและวุฒิสภา โดยให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง

2. พระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศและความยุติธรรม
พระราชอำนาจในส่วนนี้มีสาระสำคัญเหมือนกันทุกฉบับ ดังนี้
1. การสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งบัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2492 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
2. การแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ เป็นพระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัยในการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง บัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2492 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
3. การแต่งตั้งและให้ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวงอธิบดีและเทียบเท่าพ้นจากตำแหน่ง เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งและให้ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่าพ้นจากตำแหน่ง บัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พุทธศักราช 2492 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
4. พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
เมื่อศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วจำเลยผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดและต้องได้รับโทษหรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยจะยื่นเรื่องต่อกระทรวงมหาดไทย หรือทูลเกล้าฯถวายโดยตรงทางสำนักราชเลขาธิการก็ได้ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการจะส่งฎีกานั้นให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาทำความเห็นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพิจารณาประกอบพระราชดำริเสมอแล้ว พระมหากษัตริย์จึงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย

3. พระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัย
พระราชอำนาจในส่วนนี้สาระสำคัญส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เหมือนกัน
1. แต่งตั้งองคมนตรี
โดยให้พระองค์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานองคมนตรีและองคมนตรีประกอบเป็นคณะองคมนตรี การเลือกและแต่งตั้งรวมไปถึงการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 จนถึงฉบับปัจจุบัน ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ใช้คำว่า "อภิรัฐมนตรี"
2. ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารราชภาระไม่ได้ จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2489 บัญญัติให้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 บัญญัติให้ทรงตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และต่อมาได้ยกเลิกตำแหน่ง "อภิรัฐมนตรี" และมีตำแหน่งองคมนตรีขึ้นมาแทน
3. แต่งตั้งพระรัชทายาท
ตามกฏมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ในเรื่องนี้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
4. แก้ไขเพิ่มเติมกฏมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467
โดยถือเป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์มีพระราชดำริประการใดให้องคมนตรีจัดร่างกฏมณเทียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฏมณเทียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีแจ้งประธานรัฐสภา เพื่อแจ้งให้รัฐสภาทราบ เพื่อจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

4. พระราชอำนาจในด้านอื่น ๆ
1. ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเท่านั้น โดยให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
2. ทรงแต่งตั้งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการแต่งตั้งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 บัญญัติให้ พระมหากษัตริย์ทรง แต่งตั้ง "ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภา" ตามมติของรัฐสภา และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง "กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" และ "ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" ตามคำแนะนำของวุฒิสภา

ไม่มีความคิดเห็น: