นโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความหมาย
สำหรับนโยบายต่างประเทศ ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายความหมาย เช่น เจ. ดี. บี. มิลเลอร์ (J. D. B. Miller) ให้คำจำกัดความของคำว่า นโยบายต่างประเทศว่าหมายถึงพฤติกรรม (ของรัฐ) ที่เป็นทางการต่อกิจการภายนอกรัฐ
เค. เจ. โฮลสติ (K. J. Holsti) ได้ให้ความหมายของนโยบายต่างประเทศว่า หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะนโยบาย หมายถึง การตัดสินใจต่าง ๆ ที่มีเป้าหมาย เพื่อการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ดังนั้น นโยบายต่างประเทศจึงเป็นการกระทำต่าง ๆ ของรัฐภายใต้การตัดสินใจและนโยบายเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยกัน
เคลาส์ คนอร์ (Klaus Knorn) อธิบายว่า นโยบายต่างประเทศ หมายถึง การที่รัฐใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของตนในการสัมพันธ์กับรัฐอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ
ที. บี. มิลลาร์ (T. B. Millar) กล่าวว่านโยบายต่างประเทศ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของประเทศหนึ่งกับประเทศอื่น ๆ
จากความหมายดังที่กล่าวมา พอสรุปได้ว่านโยบายต่างประเทศ หมายถึงวิธีดำเนินการเพื่อการนำไปปฏิบัติที่มุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของประเทศอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศตน การกระทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสำคัญของนโยบายต่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดสันติภาพหรือความขัดแย้งขึ้นได้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งประเทศต่าง ๆ มักจะดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้ฝ่ายตนได้เปรียบหรือได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ดังนั้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศ จึงมีความสำคัญอยู่ 2 ประการ ดังนั้น
1. การรักษาเอกราชและความมั่นคง นโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศจะมีลักษณะมุ่งต่อต้านการขยายตัวของประเทศอื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นภัยอันตรายต่อเอกราชและความมั่นคงของประเทศตน สมมุติฐานที่ว่า หากรัฐของตนเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ก็จะมุ่งขยายอำนาจของรัฐ กรณีตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีความรู้สึกวิตกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยของตน กรณีประเทศอิรักสะสมและผลิตอาวุธชีวภาพ จึงหาทางบีบด้วยวิธีการทางการทูต จนในที่สุดต้องใช้กำลังทหารเข้าทำสงครามและยึดครองประเทศอิรักอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าเอกราชและความมั่นคงของประเทศเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
2. การแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญควบคู่กับผลประโยชน์ทางการเมือง ชาติมหาอำนาจจะใช้นโยบายทางเศรษฐกิจการค้าขายและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เพื่อแผ่ขยายลัทธิอุดมการณ์ วัฒนธรรม และเพิ่มอิทธิพลของตนในประเทศอื่น ๆ เช่น การใช้การค้าเพื่อเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ และการทำให้ประเทศอื่น ๆ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตน เช่น สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้เอกชนของตนเข้าไปลงทุนกิจการอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ทางการเมือง เช่น ลงทุนด้านกิจการน้ำมัน ในเวเนซุเอลา ลิเบีย และซาอุดีอาระเบีย ลงทุนด้านกิจการเหมืองแร่ เกษตรกรรม และโทรศัพท์ในประเทศลาตินอเมริกา รวมทั้งการเป็นประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบต่อประเทศในแถบลาตินอเมริกา เป็นต้น โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การยกเว้นอัตราภาษีขาเข้า การตั้งกำแพงภาษี หรือการจำกัดประเภทสินค้าขาเข้า เป็นต้น
นอกจากการค้าแล้ว การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ด้วยการกู้ยืมหรือการให้เปล่า ขณะเดียวกันก็จะพยายามสร้างอิทธิพลทางด้านจิตวิทยาควบคู่ไปด้วย ได้แก่การให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ การเผยแพร่อุดมการณ์ลัทธิความเชื่อ และวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
องค์ประกอบของนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้น จะต้องมีองประกอบที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
1. ลักษณะของผู้กำหนดนโยบาย ลักษณะดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ภาพลักษณ์ และบุคลิกลักษณะส่วนตัวของผู้กำหนดนโยบาย เช่น ผู้นำที่มีความสุขุม รอบคอบ เยือกเย็น ย่อมมีความตัดสินใจแตกต่างจากผู้นำที่มีลักษณะอารมณ์ร้อนวู่วาม เป็นต้น ลักษณะทางด้านจิตวิทยา ความเชื่อหรือการยึดถือในอุดมการณ์ต่าง ๆ ของผู้นำหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินนโยบาย มีผลถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่คนเหล่านั้นรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมด้วย กล่าวโดยสรุปลักษณะประจำตัวของผู้นำหรือผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายมักจะปรากฏออกมาในการกำหนดหรือดำเนินนโยบายต่างประเทศที่บุคคลนั้น ๆ รับผิดชอบอยู่
2. บทบาทของผู้กำหนดนโยบาย บทบาทดังกล่าวนี้ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการแล้ว อย่างเป็นทางการ เช่น บทบาทในฐานะประมุขของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นต้น ส่วนบทบาทไม่เป็นทางการ เช่น ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีบทบาทอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาพรรคได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นเสียงข้างมาก ผู้นำพรรคจะต้องเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นผู้นำรัฐบาล บทบาทก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างประเทศด้วยก็ได้
3. ระบบราชการ หมายถึง โครงสร้างของหน่วยงานรัฐบาล กระบวนการกำดำเนินงานของหน่วยงานทางราชการที่สำคัญ ๆ กระบานการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ เพื่อการกำหนดนโยบายเทคนิคในการนำเอานโยบายต่าง ๆ ไปปฏิบัติ ทัศนคติของข้าราชการในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายต่างประเทศที่มีต่อนโยบายภายในประเทศและต่อสวัสดิการของรัฐโดยทั่วไป
ส่วนการปกครองระบบเผด็จการนั้น การที่กลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มผลประโยชน์จะเข้ามามีอำนาจต่อการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศได้น้อยกว่าประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพราะว่าระบบราชการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากศูนย์กลาง การจะดำเนินนโยบายใด ๆ ก็ตามมักจะทำได้อย่างรวดเร็วก่อนที่ฝ่ายใดจะสามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้อย่างจริงจัง
4. ชาติ เป็นองค์ประกอบที่กำหนดอำนาจของรัฐ เช่น องค์ประกอบด้านภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ขนาด ดินฟ้าอากาศทรัพยากรธรรมชาติที่แต่ละชาติมีอยู่ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น รัฐที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรสองด้าน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาย่อมได้เปรียบกว่าโปแลนด์ที่มีที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
นอกจากนั้น เศรษฐกิจก็มีความสำคัญยิ่งต่อการกำหนดนโยบายของแต่ละรัฐความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ จำนวนผลิตภัณฑ์ประชาชาติรวม ผลผลิตทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ ต่างก็มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า รัฐที่มีทรัพยากรสำคัญ เช่น น้ำมัน ย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่ารัฐที่ไม่มีน้ำมัน เพราะน้ำมันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากรัฐขาดน้ำมัน เศรษฐกิจก็จะหยุดชะงักอยู่กับที่ ดังนั้น รัฐที่มีน้ำมันก็อาจจะอาศัยน้ำมันมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ ดังเช่น ที่กลุ่มโอเปกกระทำได้สำเร็จ และทำให้ประเทศในกลุ่มนี้มีสิทธิ์มีเสียงเพิ่มมากขึ้นในเวทีการเมืองโลก
ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เช่น เชื่อว่าในระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่มีการควบคุมทางด้านเศรษฐกิจจากศูนย์กลางนั้น มักจะสามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทางด้านการเมืองได้เสมอ ในขณะที่ประเทศทุนนิยมจะนำเอานโยบายทางเศรษฐกิจมาใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการเมือง หรือเพื่อประโยชน์ของรัฐ โดยเฉพาะมักเป็นไปได้ยาก เพราะว่าเอกชนได้เข้ามามีส่วนในการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐเป็นอย่างมาก และเอกชนจะพยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่าต่อรัฐ
ส่วนทางด้านสังคมนั้น หากสังคมใดมีความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมมาก สังคมก็มีแนวโน้มที่จะแตกแยกความสามัคคีในชาติมีน้อย ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เพราะการที่จะกำหนดนโยบายใด ๆ ลงไปก็อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่ การศึกษา ภาษา ศาสนา สีผิว เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม สถานภาพทางสังคม การกระจายรายได้ ล้วนเข้ามามีผลต่อการกำหนดนโยบายทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ในดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยมีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่รัฐจะกำหนดนโยบายใด ๆ ก็ตาม รัฐจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้อยู่เสมอ
ความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ ภาพพจน์ ลักษณะประจำชาติ อุดมการณ์ คุณภาพของรัฐบาล เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเช่นกัน เช่น การที่ญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างใหญ่หลวง ย่อมทำให้คนญี่ปุ่นมีความทรงจำเกี่ยวกับภัยภิบัติอันเกิดจากสงครามได้เป็นอย่างดี จนชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากไม่ต้องการให้ประเทศของตนเข้าร่วมในการแข่งขันทางอาวุธกับชาติอื่น ๆ อีก
5. ระบบ ในที่นี้หมายถึง ระบบระหว่างประเทศ เช่น ระบบดุลแห่งอำนาจ ระบบสองขั้วอำนาจ หรือระบบหลายขั้วอำนาจ เป็นต้น ระบบเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ เช่น ประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น ได้ดำเนินนโยบายที่ผูกพันกับสหรัฐอเมริกามาก ต่อมาระบบระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ สงครามเย็นได้ลดความตึงเครียดลง ขณะเดียวกันประเทศไทยหันไปใช้นโยบายผูกมิตรกับจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นต้น นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ ระบบพันธมิตร การพึ่งพาหรือพึ่งพิงระหว่างประเทศต่างถูกจัดเป็นองค์ประกอบที่เรียกว่าระบบนี้
องค์ประกอบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐ เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะทำหน้าที่กำหนดฐานะบทบาทและขีดความสามารถของรัฐในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้
เป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ
หลักการพื้นฐานของการกำหนดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็เพื่อการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังนี้
1. การรักษาสันติภาพ สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่า การเมืองระหว่างประเทศมีความเป็นไปได้ทุกขณะที่จะใช้ความรุนแรง อันได้แก่ การใช้กำลังอาวุธและกำลังทหารเป็นเครื่องมือในการระงับความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น การก่อการร้าย 11 กันยายน สงครามสหรัฐอเมริกากับอิรัก ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เป็นต้น เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐต่างๆ จึงพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยกำหนดเป้าหมาย เพื่อการรักษาสันติภาพ ดังจะเห็นได้จากมีการตกลงจำกัดอาวุธ และลดอาวุธ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ หรือมีความพยายามในการตกลงกัน การตกลงกันจำกัดการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ
2. การสร้างความมั่นคง ความมั่นคงเป็นหลักสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยทั่วไป จะเห็นได้ว่านโยบายการแผ่อิทธิพลและอำนาจของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคต่างๆ ของโลกนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นคงในดุลยภาพของอำนาจระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสอง หรือในอดีต ไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบผูกมิตรกับจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศในสมาคม อาเซียนก็เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในกรณีที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเวียดนาม กัมพูชา และลาว ที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง เป้าหมาย ของนโยบายต่างประเทศในแง่ของการสร้างความมั่นคงนี้ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากกว่าเป้าหมายเพื่อสันติภาพเสียอีก
3. การรักษาอำนาจ การรักษาสถานภาพแห่งอำนาจรัฐต่างๆ จะรักษาอำนาจและฐานะของตนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมิให้ตกต่ำลง ดังจะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกาได้ขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งแข่งขันกันมีอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บูช ได้หันมาสร้างระบบแกนพันธมิตร 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก เพื่อประสานระบบความมั่นคงและรักษาอำนาจของสหรัฐเมริกาในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนานั้น สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาโดยการลงทุน การให้ความช่วยเหลือในรูปการให้กู้ยืมและการให้เปล่า ตลอดจนการให้การสนับสนุนการรวมตัวกัน เช่น สมาคมอาเซียน และตลาดร่วมยุโรป เป็นต้น
4. การรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันปัญหาความแตกต่างของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ด้อยพัฒนาปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ปัญหาความยากจนและความอดอยากในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยชาติอภิมหาอำนาจต่างก็แข่งขันเพื่อมีอิทธิพลในการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยากจนเหล่านี้ แต่บทบาทที่แท้จริงของอภิหมาอำนาจนี้ก็คือ การแข่งขันกันสร้างเขตอิทธิพลของตนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาถูกแบ่งออกเป็นค่ายสังคมนิยมและค่ายเสรีนิยมซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต่างก็เป็นตลาดวัตถุดิบ ตลาดแรงงาน และตลาดสินค้า รวมทั้งต้องพึ่งพิงกับประเทศอภิมหาอำนาจนั่นเอง นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจได้ใช้แนวทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์ และการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนอีกด้วย เช่น การใช้นโยบายทุ่มสินค้า นโยบาย ปิดล้อม เป็นต้น
การกำหนดนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้น แต่ละประเทศมีเป้าหมายและวิธีการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนแตกต่างกันไป ซึ่งรัฐจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย
รูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้นมีรูปแบบต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางการเมือง ฐานอำนาจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ตลอดจนอุดมการณ์ ผลประโยชน์ และความสนใจของผู้กำหนดนโยบายเป็นสำคัญ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้
1. นโยบายสมเหตุสมผล รูปแบบของนโยบายนี้ถูกกำหนดหลังจากที่ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมด เช่น เมื่อถูกประเทศหนึ่งยื่นคำขาดขอเดินทัพผ่านประเทศตน ประเทศที่ถูกยื่นคำขาดจะพิจารณาว่าหนทางปฏิบัติของตนมีได้กี่ทาง เช่น ปฏิเสธการยื่นคำขาด และต่อสู้ทันทีหากมีการยกตราทัพเข้าประเทศ ยอมตามคำคู่นั้น เจรจาถ่วงเวลา หรือขอให้มหาอำนาจอื่นเข้าแทรกแซง เมื่อกำหนดทางเลือกแล้ว ก็จะพิจารณาว่าทางเลือกแต่ละทางนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร หลังจากนั้นก็จะเลือกหนทางที่ให้ผลดีที่สุดหรือก่อผลเสียน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ เช่น กรณีที่สวิตเซอร์แลนด์เลือกนโยบายเป็นกลาง เพราะพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ แล้ว เห็นว่านโยบายนี้ตอบสนองผลประโยชน์ของชาติได้ดีที่สุด เป็นต้น
2. นโยบายโดยผู้นำ รูปแบบนโยบายโดยผู้นำนี้จะถูกกำหนดโดยผู้นำเพียงคนเดียว หรือเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้น ไม่ว่าประเทศจะมีการปกครองแบบใดก็ตาม สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ เช่น การกำหนดนโยบายเพื่อความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ซึ่งกำหนดโดยฮิตเลอร์และกลุ่มผู้นำทางทหารไม่กี่คน หรือนโยบายวงศ์ไพบูลย์ร่วมกันแห่งเอเซีย ซึ่งผู้นำทางทหารของญี่ปุ่นกำหนดในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย นโยบายโดยผู้นำนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีการเลือกตัวผู้นำโดยกระบวนการประชาธิปไตย เมื่อมีการเลือกสรรได้แล้วผู้นำเพียงไม่กี่คนก็จะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย
3. นโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป รูปแบบของนโยบายนี้เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิม เช่น นโยบายคบค้ากับจีนของประเทศไทยซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดจากการปรับตัวตามสถานการณ์กล่าวคือ นโยบายของไทยเริ่มมีลักษณะผ่อนคลายความตึงเครียดและโอนอ่อนเข้าหาจีนอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นนโยบายคบค้ากับจีนดังที่เป็นอยู่ เป็นต้น รูปแบบการกำหนดนโยบายเช่นนี้มีลักษณะอนุรักษ์นิยม กล่าวคือ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังรักษาลักษณะบางอย่างของนโยบายเดิมเอาไว้มิได้เปลี่ยนแปลงโดยทันที
4. นโยบายแบบการเมือง ในประเทศซึ่งมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มที่มีอำนาจหรือมีบุคคลหลายกลุ่มเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอุดมการณ์และผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป รูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศอาจมีลักษณะการเมือง คือ บุคคลแต่ละกลุ่มจะเสนอแนวนโยบายที่ตนเห็นสมควร และดำเนินการเจรจาต่อรอง หรือใช้วิธีการทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้นโยบายของตนปรากฏออกมาโดยมีลักษณะประสานผลประโยชน์และอุดมการณ์ของบุคคลหลายกลุ่ม ซึ่งอาจไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมที่สุด แต่เป็นนโยบายที่สอดประสานผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ดีที่สุด
5. นโยบายแบบการเมืองโดยระบบราชการ รูปแบบของนโยบายนี้ ระบบราชการจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลติดตามวิเคราะห์ข่าวคราวเหตุการณ์ระหว่างประเทศ จัดทำข้อเสนอแนะ รวมทั้งทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งหน่วยราชการอาจเสนอเหตุผลและข้อมูลที่สนับสนุนทางเลือกหนึ่งซึ่งเห็นว่าเหมาะสมที่สุดและเสนอเหตุผลสนับสนุนทางเลือกอื่น ๆ อย่างไม่หนักแน่น
รูปแบบต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเหล่านี้นั้นในทางปฏิบัติรัฐต่าง ๆ มิได้ใช้แบบใดแบบหนึ่งเสมอไป แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ประการหนึ่ง และขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐเห็นสมควรอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแบบแผนหรือรูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศจะเป็นอย่างไร ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศพึงต้องคำนึง และพิจารณาถึงผลประโยชน์แห่งชาติของตนอยู่เสมอ
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครอง ความแตกต่างในลัทธิอุดมการณ์ และในบางครั้งรัฐบาลต่างคณะกันในรัฐเดียวกันนั้นเองก็อาจใช้กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศแตกต่างกันไปด้วย ดังนี้
1. ระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาของอังกฤษ กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศที่ได้ตัดสินใจกำหนดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี การตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลจะถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา ด้วยการตั้งกระทู้ถามและวิจารณ์นโยบายเหล่านั้น หากรัฐบาลมาจากเสียงข้างมากในรัฐสภา นโยบายต่างประเทศนั้นก็จะได้รับการยอมรับสนับสนุน ในทางกลับกัน หากฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ นโยบายต่างประเทศนั้นก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ในบางกรณีถึงกับทำให้คณะรัฐบาลอาจต้องลาออกจากตำแหน่ง
ส่วนระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้การใช้อำนาจของสถาบันนิติบัญญัติกับสถาบันฝ่ายบริหาร แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดนั้น ประธานาธิบดีโดยรัฐมนตรีต่างประเทศและคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านของประธานาธิบดีจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ทั้งนี้ประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว หรือประธานาธิบดีโดยความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดนโยบายขั้นสุดท้าย เมื่อกำหนดเป็นนโยบายได้แล้ว ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารสามารถนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติได้ทันที
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศในประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น รัฐสภาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
นอกจากนี้ บทบาทของสถาบันที่มิใช่องค์การฝ่ายรัฐ เช่น สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มติมหาชน และนักวิชาการก็สามารถเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ โดยการเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์ในด้านต่าง ๆ ในบางกรณี มติมหาชน และการเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีส่วนทำให้รัฐบาลต้องปรับปรุงหรือยกเลิกนโยบายต่างประเทศนั้นได้ ดังตัวอย่างในปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเลิกเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงครามอินโดจีน โดยรัฐสภาไม่สนับสนุนด้านงบประมาณ อันเป็นผลมาจากการเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
2. ระบอบเผด็จการ ในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศแตกต่างไปจากประเทศประชาธิปไตย กล่าวคือ ระบอบคอมมิวนิสต์จะมีพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวที่ครองอำนาจการเมืองโดยสมบูรณ์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงเป็นองค์กรที่กำหนดแนวนโยบายต่างประเทศตามที่เห็นสมควรโดยพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ระดับสูงสุด ส่วนองค์การฝ่ายรัฐบาล เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศจะทำหน้าที่เพียงผู้ที่นำนโยบายไปปฏิบัติเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐต่าง ๆ ย่อมแตกต่างกันไปตามประเภทของระบอบการเมืองการปกครอง ซึ่งจะต้องมีเป้าหมายเพื่อการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติมากที่สุด มีความเสี่ยงในการนำไปปฏิบัติน้อยที่สุดและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศในแต่ละขณะให้มากที่สุด
การดำเนินนโยบายต่างประเทศ
การดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ รัฐจึงเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ การนำนโยบายต่างประเทศไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ จะรับผิดชอบในระดับสูงหรือระดับนโยบาย ส่วนระดับรองลงมาอาจมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเป็นตัวแทน เช่น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเจรจาและทำสัญญาซื้อน้ำมันดิบกับกลุ่มประเทศโอเปค เป็นต้น ซึ่งในระดับปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการประจำกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทางการเมืองระหว่างประเทศมักใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ดังนี้
1. การทูต คือ การรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน การทูตจะช่วยลดความขัดแย้งด้วยการเจรจาหาทางประนีประนอมระหว่างกัน การทูตเป็นเครื่องมือสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยเสมอกัน แต่ประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากการใช้เครื่องมือทางการทูตนั้นย่อมแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับศิลปะของนักการทูตในการเจรจาซึ่งถือกันว่าการทูตเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ เช่น การชี้ชวน โน้มน้าวและจูงจิตใจ การบีบบังคับ และการข่มขวัญ เป็นต้น
2. เครื่องมือทางจิตวิทยา การใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น รัฐต่าง ๆ จะใช้เครื่องมือนี้ได้ไม่เท่าเทียมกัน บางรัฐมีความสามารถในการใช้สูง เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต แต่บางรัฐอาจมีขีดความสามารถที่จำกัด โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน เป็นต้น การใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาจะอยู่ในรูปของการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีมากในช่วงสงครามเย็นเป็นต้นมาสหรัฐอเมริกาถือว่า การแถลงข่าวเพื่อผลทางด้านจิตวิทยาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ โดยมีสำนักงานแถลงข่าวอเมริกัน (USIA) และสถานีวิทยุกระจายเสียงจากอเมริกา (Voice of America) เป็นหน่วยงานสำคัญในขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียต ก็พยายามแข่งขันในด้านนี้ โดยมีสำนักงานแถลงข่าวทาสส์ (Tass) และสำนักงานโฆษณาระหว่างประเทศ (AGITPROP) เป็นต้น นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว การให้ความช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การให้ทุนไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางจิตวิทยา
3. เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ เครื่องมือทางเศรษฐกิจนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการเมือง การทหาร และจิตวิทยา เมื่อรัฐมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อกันแล้ว รัฐอาจได้ผลประโยชน์ทางการเมืองในแง่ของการขยายอิทธิพล ได้ประโยชน์ทางการทหาร เช่น การตั้งฐานทัพ และประโยชน์ทางจิตวิทยา เช่น ความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อกัน เป็นต้น
4. เครื่องมือทางการทหาร การใช้เครื่องมือทางการทหารเป็นการใช้เพื่อการตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกัน หรือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นเพื่อการขยายเขตอิทธิพลของตน การใช้เครื่องมือทางทหารนี้มีรูปแบบต่าง ๆ เช่น สงครามในรูปแบบต่าง ๆ การแทรกแซงทางทหาร การงดการซื้อขายและให้ความช่วยเหลือทางทหาร เป็นต้น
ผลกระทบของนโยบายต่างประเทศ
การดำเนินกิจกรรมเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้น ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบระหว่างรัฐด้วยกัน ผลกระทบดังกล่าวนี้มี 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ความร่วมมือ การที่รัฐต่าง ๆ ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่นำไปสู่ความร่วมมือนั้นมีเป้าหมายร่วมกันในบางสิ่งบางอย่าง เช่น ความมั่นคงร่วมกัน การป้องกันร่วมกัน และสันติภาพ เป็นต้น การร่วมมือกันในระดับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น สมาคมอาเซียน องค์การตลาดร่วมยุโรป
เป็นต้น รวมทั้งการที่รัฐประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ เช่น สหภาพไปรษณีย์สากล เป็นต้น
2. ความขัดแย้ง สภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันในทางอำนาจอันนำไปสู่การใช้ความรุนแรงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง “ผลประโยชน์ของชาติ” เป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามลดระดับความขัดแย้งต่าง ๆ โดยการใช้การต่อรองเป็นแนวทางเพื่อลดความขัดแย้ง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามซึ่งเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดนั่นเอง
วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
5 ความคิดเห็น:
อยากทราบแหล่งที่มาของข้อมูลได้ไหมค่ะ ขอบคุณค่ะ
ย่อหน่อยได้มั่ยค่ะ
เยอะเกินอ่านไม่ไหว
ขอบคุณค่ะ
ของนโยบายต่างประเทศไทยกับลาตินอเมริกา หน่อยครับ
ขอบคุณครับ
ส่งมาที่ apichat123@hotmail.com
มีข้อมูลของนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อประเทศเยอรมนีไหมครับ
ผมหาข้อมูลจากที่ต่างๆแล้วไม่เจอเลยครับ
เลยอยากทราบว่ามีข้อมูลเรื่องนี้ไหม
ถ้ามีข้อมูลช่วยส่งมาตามนี้ได้ไหมครับ kittipong.man001@gmail.com
ขอบคุณครับ
มีข้อมูล(นโยบายต่างประเทศของจีนทางด้านเศรษฐกิจที่มีต่อพม่า หลังวิกฤตต้มยำกุ้งหรือปัจจุบันไหมค่ะ)ขอบคุณมากค่ะ
แสดงความคิดเห็น